ทัวร์ทะเล

 

เรียนรู้ก่อนท่องไปในโลกของปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนอยู่ในทะเล มันอยู่ในน้ำตั้งแต่ระดับน้ำตื้นเพียงไม่ถึงเมตรไปจนถึงน้ำลึกกว่า 40 เมตร การที่เราจะไปดูปลาการ์ตูนนั้นถ้าเราไปดูปลาการ์ตูนในตู้ปลาสวยงามที่สวนจตุจักรแค่เพียงเรายืนดูก็เห็นแล้ว แต่นั่นเราไม่ยังไม่ได้ลงไปสัมผัสอยู่ในโลกของปลาการ์ตูน โลกของปลาการ์ตูนที่เราสามารถลงไปแหวกว่ายเหมือนเราเป็นปลาตัวใหญ่ตัวหนึ่ง เมื่อปลาการ์ตูนเห็นเรามันคงสงสัยว่าเราเป็นปลาหรือเป็นสิงโตทะเลกันแน่

การดูปลาการ์ตูนในบริเวณน้ำตื้นนั้นง่ายมาก เพียงเราก้มลงมองในบริเวณน้ำใสๆ เราก็เห็นแล้ว แต่ว่ามันเห็นไม่ค่อยชัดทั้งนี้เพราะแสงสะท้อนจากน้ำทะเลมีการหักเหของแสงทำให้เราเห็นปลาการ์ตูนที่อยู่ในน้ำตัวเบี้ยวๆ บางทีก็เห็นแต่หลังปลา วิธีที่เราจะมองได้ชัดคือเราต้องเอาหน้าเราจุ่มลงไปในน้ำ แต่น้ำทะเลมันเค็มทำให้เราแสบตาดังนั้นเราจึงควรหาหน้ากากมาใส่ คราวนี้ล่ะเราก็จะเอาหน้าจุ่มไปในน้ำเห็นปลาการ์ตูนตัวใสแจ๋ว แต่ว่าเราหายใจไม่ได้เพราะจมูกจมอยู่ในน้ำ เราดูปลาการ์ตูนได้ไม่กี่อึดใจก็แทบจะขาดใจตายเพราะไม่มีอากาศหายใจ วิธีที่จะทำให้เราดูปลาการ์ตูนได้นานๆ ก็คือเราต้องมีท่อหายใจคาบไว้ที่ปากแล้วหายใจโดยใช้ปากดูดอากาศจากท่อนั้นโดยที่ปลายท่อหายใจจะต้องโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำ คราวนี้ล่ะเราก็จะทำให้เราดูปลาการ์ตูนได้สบาย แต่ถ้าเราเอาหน้าจุ่มน้ำดูแต่ชายฝั่งมันก็ไม่สนุก ดังนั้นเราจึงต้องลอยออกไปไกลๆ ที่ได้เห็นโลกของปลาการ์ตูนที่สวยงามทั้งดอกไม้ทะเลบ้านของปลาการ์ตูน ปลาชนิดต่างๆ ที่เป็นเพื่อนกับปลาการ์ตูน บางชนิดก็ไม่ใช่เพื่อนเพราะมันกินปลาการ์ตูน วิธีการทำให้เราปลอดภัยเมื่อล่องลอยไปในทะเลก็คือชูชีพ เราต้องสวมชูชีพไว้เพื่อความปลอดภัยเพราะชูชีพช่วยให้ตัวเราลอยน้ำไม่จมไปอยู่ก้นทะเล วิธีการที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เราเรียกว่าการดำน้ำแบบ Skin Diving หรือ การดำผิวน้ำ  หรือ Snorkeling ความหมายเดียวกัน หน้ากากที่เราใส่เรียกว่า Mask ท่อหายใจที่เราต้องคาบไว้เรียกว่า Snorkel 

   
ดอกไม้ทะเลฝั่งอันดามัน บ้านปลาการ์ตูนนีโม

อุปกรณ์สำหรับการดำผิวน้ำประกอบด้วย  หน้ากาก  Snorkel เสื้อชูชีพ แต่ถ้ามีตีนกบด้วยจะยิ่งดีเพราะทำให้เราว่ายเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้ดีขึ้น

1. หน้ากาก มีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าตาเราขณะที่เราจุ่มหน้าอยู่ใต้น้ำ ก่อนลงน้ำควรจะล้างกระจกหน้ากากให้สะอาดใสเพื่อที่เราจะได้มองโลกใต้น้ำได้สดใสสวยงาม เมื่อเราดำน้ำไปสักพักหน้ากากจะเป็นฝ้าขุ่นมัว และบางครั้งมีน้ำรั่วเข้าไปบางส่วนซึ่งเราจะต้องมีวิธีกำจัดฝ้าที่เกิด และไล่น้ำออกจากหน้ากาก ผมจะบอกเมื่อไปลงปฎิบัติจริงในทะเล

2. ท่อหายใจ หรือ Snorkel เป็นท่อที่ทำให้เรามีอากาศหายใจเมื่อหน้าเราจมอยู่ใต้น้ำ ปลายของท่อส่วนหนึ่งจะอยู่บนผิวน้ำ ส่วนปลายเป็นจุดที่เราจะต้องคาบไว้แล้วดูดอากาศบริสุทธิ์ที่อยู่เหนือผิวน้ำเพื่อใช้ในการหายใจโดยที่เราไม่ต้องเงยหน้าขึ้นมาจากผิวน้ำ ทำให้เราชมโลกใต้น้ำได้นานแสนนานเท่าที่เราต้องการหรือจนกว่าท้องจะหิว

3. ชูชีพ  เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยสวยไว้เพื่อให้เรามั่นใจว่ายังไงเราก็ไม่จม แต่เวลาที่เราเห็นสิ่งที่น่าสนใจใต้น้ำเราจะดำลงไปไม่ได้ ดังนั้นการสวมชูชีพจึงทำให้เราลอยดูอยู่ที่ผิวน้ำเท่านั้น อันที่จริงตัวของคนเราไม่จมน้ำอยู่แล้ว ถ้าเราดำผิวน้ำแบบใช้การลอยตัวโดยไม่ใช้ชูชีพจะทำให้เราคล่องตัวมากขึ้น ลอยตัวอย่างไรไม่ให้จมไว้บอกตอนลงทะเล

ในโลกของความเป็นจริง เราไม่อาจจะบินได้เหมือนนก แต่ก็เราสามารถว่ายน้ำได้เหมือนปลา ชื่อเรียกของการดำน้ำได้เหมือนปลาเราเรียกว่า การดำน้ำแบบ Scuba ย่อมาจากคำว่า Self Contained Underwater Breathing Apparatus แปลว่าอะไรก็ไม่รู้  ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพียงแค่เรามีอุปกรณ์สำหรับการหายใจใต้น้ำและเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับการดำน้ำที่ถูกต้องเราก็สามารถลงไปแหวกว่ายอยู่ในโลกใต้น้ำได้เหมือนปลา  อุปกรณ์สำหรับการดำน้ำแบบ Scuba ที่เราเห็นจากภาพนักดำน้ำมักจะมีสายระโยงระยาง มีถังอยู่บนหลัง อุปกรณ์เยอะแยะเห็นแล้วดูยุ่งยากแต่จริงๆ แล้วไม่มีอะไรน่าตกใจเลย อุปกรณ์มีเพียงไม่กี่ชิ้น เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังไว้พอเป็นความรู้ ที่บอกว่าพอเป็นความรู้ก็เพราะว่าสิ่งที่ผมจะเล่าให้ฟังเป็นเพียง...รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม แต่จะนำไปใช้งานดำน้ำเล่นไม่ได้เด็ดขาด ผู้ที่จะดำน้ำแบบ Scuba ได้จะต้องผ่านหลักสูตรการเรียนที่ถูกต้อง คือว่าต้องไปเสียเงินค่าครูซะก่อนจะได้จำฝังใจ ดังนั้นสิ่งที่ผมจะบอกจึงฟังไว้เล่นๆ 

อุปกรณ์ที่ทำให้เราดำอยู่ใต้น้ำได้นานๆ ว่ายน้ำได้เหมือนปลามีอุปกรณ์ที่สำคัญๆ ดังที่ได้แสดงไว้ในภาพ  มีอะไรบ้าง แต่ละตัวมีความสำคัญอย่างไรจะอธิบายให้ฟังครับ

1. ถังอากาศ สำคัญที่สุดถ้าไม่มีเจ้าถังนี้อย่างอื่นก็ไม่ต้องพูดถึง  หน้าที่คือเก็บอากาศสำหรับที่เราจะใช้หายใจเมื่อเราอยู่ใต้น้ำ ถังมีหลายขนาดแต่ขนาดมาตรฐานคือ 11.5 ลิตร ไม่ใช่ว่าบรรจุอากาศได้ 11 ลิตรนะครับ เห็นถังเล็กๆ ยังงี้มันอัดอากาศได้เท่ากับอากาศในห้องนอนของคุณทั้งห้องเชียวนะครับ ( ห้อง 3 x 3.5 เมตร ) ถังนี้ทนแรงดันได้สูงสุด 320 Bar หรือประมาณ 4700 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว เจอศัพท์เทคนิคหน่อยอย่าเพิ่งงงนะครับ พูดง่ายๆ ก็คือทนแรงอัดได้ 320 เท่าของความดันปกติที่รอบตัวเรา แต่การใช้งานจริงๆ จะอัดอากาศกันประมาณ 200 Bar ถังหนึ่งจะดำได้นานประมาณ 40-50 นาทีในกรณีที่ไม่ดำลึกมาก  อากาศที่อัดลงในถังก็คืออากาศรอบๆ ตัวเรานี่แหล่ะครับ ถังอากาศจะมาพร้อมกับวาวส์หัวถังมีไว้ให้เปิดเมื่อใช้ ปิดเมื่อเลือกใช้ สายที่เราจะหายใจต้องเอามาต่อต่างหาก
2. ชุดปรับความดันและสายช่วยหายใจ จากหัวถังเราจะต้องเอาชุดปรับความดันมาต่อ อากาศที่อัดมาในถังมีแรงดันมากกว่าความดันปกติรอบตัวเราประมาณ 200 เท่า ถ้าเราเปิดใช้ง่ายโดยตรงจากหัวถังแรงดันจะสูงมาก มากขนาดที่ว่าเราถ้าเราเปิดใส่หน้าเราจังๆ แรงดันก็จะดันจนเป้าตาทะลุ ดังนั้นหากต้องการเปิดดูว่าถังไหนมีลมหรือไม่จะต้องหันทางออกของลมไปในทิศทางที่อื่นที่ไม่โดนหน้าเราหรือหน้าใครๆ ชุดปรับแรงดันนี้จะลดความดันสูงจากในถังให้เป็นความดันต่ำที่พอเหมาะสำหรับการหายใจ ตัวนี้เราเรียกว่า เรคกูเรเตอร์ Regulators เราเรียกสั้นๆ ว่า เรค  จากเรคจะมีสายต่อไปใช้งานอีก 5 สาย สายหนึ่งเราสำหรับเราใช้หายใจ อีกสายหนึ่งเผื่อไว้สำรอง หรือมีไว้แบ่งอากาศให้เพื่อนคนอื่นที่อากาศหมด อีกสายหนึ่งต่อเข้าชุดวัดความดันเพื่อที่ดูว่าปริมาณอากาศเหลือเท่าใด อีกสายต่อเข้า BCD อะไรล่ะเจ้า BCD เนี่ย ใจเย็นๆ เดี๋ยวจะบอกมันคือหมายเลข 7 ตอนนี้เรามาว่ากันถึงหมายเลข 2 ให้จบก่อน จากภาพซ้าย ชุดเรคคือหมายเลข 2 ซึ่งจะมีส่วนประกอบต่างๆ ดังภาพขวา คือ จุด A คือที่เราหายใจ B คือสายอากาศสำรอง C คือมาตรวัดความดันอากาศที่เหลือ  ส่วนสายต่อที่เข้า BCD ไม่ได้ชี้ให้เห็นเพราะไม่รู้จะชี้ยังไงมันดำไปหมด 

3. ชุดดำน้ำ หรือ Wet Suit แปลว่าเสื้อเปียก ชุดดำน้ำมีหลายแบบทั้งแบบเสื้อเปียกและเสื้อแห้ง เสื้อเปียกคือคนใส่ลงน้ำแล้วเปียก ส่วนเสื้อแห้งคนใส่ดำน้ำขึ้นมาแล้วตัวไม่เปียก เราจะพูดกันถึง Wet Suit เพราะเป็นชุดปกติของนักดำน้ำ ส่วน Dry Suit นั้นเป็นชุดที่ไม่ปกติ ใช้กรณีที่ดำในเขตน้ำเย็นจัด

ทำไมจะต้องใส่เวทสูตร ใส่แล้วเท่ห์เหรอ ใส่เสื้อกล้ามได้หมั๊ย ใส่เสื้อยืดได้หมั๊ย เวทสูทรมีประโยชน์อย่างไรทำไมต้องใช้ เวลาเราลงน้ำแล้วหนาวใช่หมั๊ย ยิ่งเราดำลงไปลึกยิ่งหนาวกว่า เคยได้ยินแต่คำว่ายิ่งสูงยิ่งหนาว แต่ยิ่งลึกก็ยิ่งหนาวกว่า  ถ้าเราไม่มีฉนวนกันความร้อนออกจากตัวเราก็จะทำให้เราสูญเสียความร้อนให้กับน้ำอย่างรวดเร็วมีผลทำให้อุณหภูมิในร่างกายเราลดลงอย่างน่าวิตกจนบางคนหนาวสั่น บางคนช๊อคหมดสติใต้น้ำ เวทสูทรช่วยท่านได้ เวทสูทรเป็นฉนวนขนิดหนึ่งทำจาก นีโอพรีนโฟม ลักษณะเป็นฟองน้ำนิ่มๆ แต่เหนียว หนาประมาณ 2-3 มม. มีหน้าที่ป้องกันความร้อนจากตัวเราไม่ให้ถ่ายเทไปสู่น้ำมากเกินไปทำให้เราไม่หนาวสั่นเมื่ออยู่ใต้น้ำนานๆ  เวทสูทรมีทั้งแบบขายาวแขนยาว และแบบขาสั้นแขนสั้น  แบบแขนสั้นก็ดีราคาถูกดี แบบแขนยาวขายาวก็ดีใส่แล้วหุ้มหมดทั้งแขนและขา นอกจากเวทสูทรจะช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อนจากตัวคนไปสู่น้ำแล้วมันยังช่วยให้ลอยตัวด้วย แล้วยังช่วยปกป้องผิวหนังเราในกรณีที่เราไปสัมผัสกับพืชหรือสัตว์มีพิษโดยบังเอิญเช่น แมงกระพรุนไฟเป็นต้น

4. ตีนกบ ฟังดูอาจจะไม่สุภาพแต่มันเป็นอุปกรณ์ ชิ้นหนึ่งสำหรับการดำน้ำ หรือเรียกว่า Fin  เราจะว่ายน้ำเหมือนปลาได้อย่างไรในเมื่อเราไม่มีหางคอยโบกสะบัด ดังนั้นเราจึงออกแบบหางปลาปลอมมาติดที่ปลายเท้าเรา บางชนิดเหมือนตีนกบ รุ่นใหม่ๆ ออกแบบเหมือนหางปลาวาฬ แต่เราเรียกมันว่า Fin ประโยชน์ของมันคือทำให้เรามีแรงส่งให้ว่ายน้ำได้เร็วขึ้น โบกสะบัดแต่ละครั้งมีแรงส่งไปได้ไกลๆ Fin มีมากมายหลายแบบให้เลือก แต่ชนิดใหญ่ๆ แบ่งเป็น 2 แบบคือ Full Foot คือฟินแบบสวมเข้าไปทั้งเท้าเหมือนใส่รองเท้า  อีกแบบคือแบบ Open  Hill คือแบบเปิดส้น แบบนี้จะต้องใส่รองเท้าก่อนที่จะใส่ฟิน ,ข้อดีของ Full Foot คือราคาถูกดี   แบบ Open Hill ดีที่ถอดง่ายใส่ง่ายกระชับดี แต่แพงและหนัก แล้วยังต้องเสียเงินซื้อรองเท้าด้วย
5. เข็มขัดตะกั่ว คนไม่ตายไม่จมน้ำ ตราบใดที่คนเรายังมีลมหายใจอยู่ในปอดก็จะไม่จมน้ำเพราะปอดเราเป็นเหมือนลูกโป่งขนาดใหญ่ในร่างกายเรา  แล้วยิ่งเราใส่เวทสูทรที่เป็นฟองน้ำยิ่งทำให้ตัวเราลอยน้ำ ถึงแม้จะมีถังอากาศแบกอยู่บนหลังมันก็ไม่ยอมจมไปใต้น้ำ แต่มันจะจมปลิ่มน้ำ เราต้องการจมอยู่ใต้น้ำ ดังนั้นเราจึงต้องหาของหนักๆ มาถ่วง สิ่งที่เล็กและหนักก็คือทองคำแต่ว่าเราไม่มีเงินซื้อทองคำหนักตั้ง 4-5 กก. มาถ่วง  ดังนั้นเราจึงใช้ตะกั่วมาถ่วงแทนเพราะมันถูกกว่า ตะกั่วมีร่องร้อยกับเข็มขัดล๊อคติดไว้ที่เอว ปริมาณน้ำหนักของตะกั่วที่ใช้แต่ละคนไม่เหมือนกันทั้งนี้เพราะร่างกายของแต่ละคนต่างกัน บางคนมีห่วงยางติดตัวมาตั้งแต่เกิดคนละหนึ่งวงบ้างสองวงบ้างบางคนก็ไม่มี คนที่มีห่วงยางประจำตัวก็จะจมน้ำยากดังนั้นจึงต้องถ่วงตะกั่วมากกว่าคนอื่น เราจะรู้ตัวเราเองว่าควรใช้ตะกั่วเท่าไรดีเมื่อเราฝึกทักษะตอนที่ลงทะเลครั้งแรก
6. หน้ากากดำน้ำ นักดำน้ำเขาเรียกว่า  Mask น้ำทะเลมันเค็ม ถ้าเราไม่สวมหน้ากากดำน้ำเมื่อเราลืมตามองสิ่งสวยงามในโลกสีครามจะทำให้เราแสบตามาก โลกจะสวยได้อย่างไรถ้าเราแสบตา เราจึงต้องใส่หน้ากากเพื่อป้องกันน้ำทะเลเหล่านั้นไม่ให้เข้าตา  มีมากมายหลายแบบ บางแบบก็สามารถถอดเปลี่ยนใส่เลนส์สายตาได้ด้วย  บางครั้งนักดำน้ำแบบ Scuba นิยมติด Snorkel ไว้ที่หน้ากากด้วยเพื่อที่จะใช้หายใจเมื่ออยู่บริเวณผิวน้ำทั้งนี้เพื่อประหยัดอากาศในถังที่เก็บไว้ใช้ใต้น้ำ
7. BCD  ตัวนี้ขอเรียกเป็นภาษาอังกฤษ มันคือเสื้อชูชีพที่สามารถปรับสภาพการจมการลอยได้ ทำไมเรียกว่า BCD ถ้าไม่บอกเดี๋ยวมันค้างคาใจ ย่อมาจาก Buoyancy Control Device แปลไม่ออก การดำผิวน้ำ จะใช้เสื้อชูชีพสีส้มสีเขียวเป็นแบบที่ค่าลอยตัวคงที่คือจะลอยอย่างเดียวไม่มีจม แต่การดำน้ำลึกเราต้องการจมเพราะเราต้องการลงไปดูโลกใต้ทะเล ถ้าเราใช้เสื้อชูชีพแบบธรรมดาก็จบกันคงไม่มีโอกาสได้ไปนอนดูปลาใต้ทะเลเพราะมันไม่จม เสื้อชูชีพแบบปรับได้นี้ทำงานง่ายๆ คือเสื้อจะมีช่องว่างเหมือนหมอนลม เวลาต้องการให้ลอยก็เติมลมใส่เข้าไป ที่เคยบอกแล้วว่าสายอากาศสายที่ 4 ต่อเข้ากับ BCD เมื่อเราต้องการจะดำลงเราก็ปล่อยลมออกให้จมลง ถ้ามันจมเร็วเกินไปเราก็เติมลมเข้าพอมันพองก็จะลอยตัว ในการดำน้ำลึกเราไม่ต้องการให้ตัวเราจมไปนอนอยู่ก้นทะเล ( เพราะหอยเม่นมันจะตำเรา หรือเราจมไปทับปะการังพังหมด )  หรือตัวเราลอยอยู่แต่บนผิวน้ำจะดำลงก็ไม่ยอมลงจะลอยท่าเดียว ที่นักดำน้ำต้องการคือ ต้องการให้ตัวเรามีสถานะเป็นกลางคือไม่จมไม่ลอย หมายความว่า เมื่อจับตัวเราไปไว้ที่ระดับลึก 5 เมตรก็ยังคงลอยเคว้งคว้างอยู่แบบนั้นไม่จมบุ๋มๆ หรือลอยตุบป่องขึ้นข้างบน เมื่อเรามีสถานะเป็นกลางเราจะไปไหนก็โบกสะบัดตีนกบ เท่านั้นก็ไปได้อย่างที่ใจต้องการ ตัวที่จะปรับให้เราตัวเป็นกลางก็คือ BCD ปรับโดยการเติมลมเข้าหรือปล่อยลมออกนั่นเอง ที่ด้านหลังของ BCD จะมีชุดรองรับถังอากาศ มีตัวล๊อคให้ถังอากาศติดแน่นไม่หลุดเมื่อเรากระโดดลงทะเล

นอกจากอุปกรณ์หลักๆ เหล่านี้แล้วก็ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมายหลายชนิดให้เลือกใช้ เช่น ไฟฉายใต้น้ำ มีดดำน้ำ คอม อีกเยอะแยะซื้อไม่หวัดไม่ไหว  สิ่งที่นักดำน้ำควรซื้อไว้เป็นของใช้ส่วนตัวคือ  ชุดดำน้ำ เพราะเป็นของส่วนตั๊วส่วนตัว  Snorkel ตัวนี้สำคัญเลยเพราะต้องอมไว้ในปากด้วยราคาก็ไม่แพง Fin ก็ควรซื้อเพราะว่าเราจะได้คุ้นเคยและใช้ได้ถนัด  หน้ากากก็ควรซื้อถ้าใช้หน้ากากที่ไม่ดีหรือลงน้ำไปแล้วไม่ถูกใจจะมีผลต่อจิตใจอย่างมาก เช่นกลัว  ถ้ามีเงินเหลือก็ควรซื้อชุดเรค เพราะต้องอมไว้ในปากเวลาดำน้ำ แต่ชุดนี้แพงจังครับ ส่วน BCD ไม่ต้องซื้อ ไว้เช่าจากผู้ให้บริการดำน้ำก็ได้

สรุป :  การดำน้ำมี 2 แบบ  คือ การดำผิวน้ำ หรือเรียกว่า  Skin Diving   และ การดำน้ำลึก Scuba Diving  การดำน้ำลึกที่ว่านี้หมายถึงดำต่ำกว่าระดับผิวน้ำ จะดำลึกเท่าไรก็เรียกว่า Scuba ถ้ามีการใช้ชุดช่วยหายใจและถังอากาศ

 

เรื่อง  / ถ่ายภาพ โดย   :  เวบมาสเตอร์
  ทะเล อ่าว เกาะ ที่น่าไปเที่ยว
ทะเลฝั่งอันดามัน ตอนบน

เกาะสิมิลัน
เกาะสุรินทร์

ทะเลฝั่งอันดามัน ตอนใต้

เกาะตะรุเตา
เกาะรอก

ทะเลอ่าวไทย ตอนล่าง

เกาะจาน
เกาะทะลุ

ทะเลอ่าวไทย ตอนบน

เกาะกุฎี
เกาะช้าง