สัตว์มีพิษ-สัตว์อันตรายในทะเล

ไม่มีที่ใดในโลกนี้ปลอดภัย   แม้แต่ในทะเล ใต้ทะเลมีสิ่งมีชีวิตที่สวยงามดึงดูดให้เราไปเยี่ยมชม ส่วนหนึ่งของสิ่งมีชีวิตนั้นก็ไม่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์หากว่าเราไปสัมผัสแตะต้องหรือเข้าใกล้ด้วยเจตนาหรือด้วยความบังเอิญก็ตาม เราเป็นนักท่องเที่ยวจึงควรรู้ไว้ว่าสิ่งใดมีอันตรายเพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงหรือแก้สถานการณ์เมื่อมีปัญหา
แมงกะพรุน  ชื่อนี้ค่อนข้างจะคุ้นเคยสำหรับนักท่องเที่ยวเพราะหลายคนเคยมีประสบการณ์กับพิษของแมงกะพรุนมาบ้างแล้ว แมงกะพรุนเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งมีลักษณะตัวใสนิ่มคล้ายๆ วุ้น บางชนิดมีสีขุ่น แมงกะพรุนมีพิษทำให้คันปวดแสบปวดร้อน แต่บางชนิดก็ใส่เย็นตาโฟทานอร่อย

การป้องกัน  เวลาเล่นน้ำให้สังเกตรอบๆ ว่ามีแมงกะพรุนอยู่แถวนั้นหรือไม่ ถ้ามีก็ให้หลีกไปเล่นบริเวณอื่น  เวลาดำน้ำดูปะการังผิวน้ำให้คอยสังเกตดูด้วยว่ามีแมงกะพรุนลอยมาหาเราหรือไม่ ถ้ามีก็ให้หลบเสีย  การดำน้ำลึกควรสังเกตและหลบเลี่ยง อย่างตัวนี้ผมเจอที่หน้าเกาะค้างคาว  ว่ายวืบๆ ผ่านไปไม่ไกลเท่าไรจึงถ่ายมาให้ชมกัน

การรักษา อย่าเกาเพราะการเกาไม่ใช่การแก้ปัญหา ยิ่งเกายิ่งยับเยิน ใจเย็นๆ ให้ใช้ใบผักบุ้งทะเลที่ขึ้นอยู่บริเวณชายหาดขยำจนของน้ำเขียวๆ ในใบออกมาแล้วทาบริเวณที่โดนแมงกะพรุน ทาทิ้งไว้สักพักอาการก็จะบรรเทาลง หลังจากนั้นก็ลงเล่นน้ำต่อได้ หรือจะใช้น้ำส้มสายชูราดในบริเวณที่โดนแมงกะพรุนก็ได้

เม่นทะเล  มักจะอาศัยอยู่บริเวณพื้นทะเลตามแนวปะการังและเกาะตามก้อนหินในน้ำ  ผู้ที่จะไปสัมผัสกับมันเข้าคือพวกที่เหยียบลงไปที่พื้น  ลักษณะเม่นทะเลดังในภาพ มีลักษณะกลมมีหนามยาวรอบตัว  ที่หนามจะมีสารพิษบางอย่างทำให้ผู้ที่ตำมีอาการเจ็บปวด การว่ายน้ำเล่นบริเวณผิวน้ำหรือการดำผิวน้ำจะไม่โดนเม่นทะเลตำเพราะเม่นทะเลอยู่ที่พื้น ถ้าหากเราเหยียบลงไปที่พื้นเราอาจจะเหยียบปะการังพังแล้วยังมีโอกาสโดนเม่นทะเลตำเอาได้  วิธีการหลีกเลี่ยงคืออย่าลอยตัวเข้าไปในเขตน้ำตื้นเพราะอาจจะโดนแม่นทะเลตำ อย่าเหยียบบนพื้น  เพราะนอกจากจะโดนเม่นตำแล้วยังอาจจะทำให้ปะการังเสียหายด้วย

วิธีการรักษา  ให้ใช้ก้อนหินหรือตะกั่วที่ใช้ดำน้ำทุบบริเวณที่โดนตำให้หนามเม่นแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย หลังจากนั้นรอเวลา เวลาจะช่วยรักษาให้หายเจ็บได้  โดนตำแล้วต้องทน

 

ดอกไม้ทะเล  สวยงามแต่มีพิษ  ดอกไม้ทะเลจัดเป็นสัตว์อยู่ในกลุ่มย่อยเดียวกับปะการังแข็ง แต่พวกนี้ไม่สร้างโครงหินปูน บริเวณหนวดมีเซลล์เข็มพิษถ้าเราไปสัมผัสก็จะโดนเข็มพิษทิ่มแทงพิษจะทำให้ปวดแสบปวดร้อน ความรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดของดอกไม้ทะเล  จู่ๆ คนเราจะไปจับดอกไม้ทะเลเล่นก็คงไม่ใช่ แต่ที่อาจจะไปโดนเข็มพิษของมันเนื่องจากไปไล่จัลปลาการ์ตูนในการดอกไม้ทะเล  ทั้งนี้เพราะปลาการ์ตูนกับกอดอกไม้ทะเลพบเห็นได้แม้ในระดับน้ำตื้นเพียงแค่เข่าของเรา  ดังนั้นจึงอย่าไปไล่จับปลา หรือแย่ปลาการ์ตูน

การป้องกัน ไม่จับเล่นเพราะเห็นว่าสวยงาม ดูแต่ตาจะปลอดภัย 

การรักษา  ใช้น้ำส้มสายชูราดบริเวณที่โดนพิษ

 

ปลาสิงโต อาศัยอยู่บริเวณแนวปะการัง พบได้แม้ในระดับน้ำตื้น อย่างตัวนี้พบที่ระดับน้ำประมาณ 1. 5 เมตร  เป็นปลาที่มีรูปร่างและสีสันสวยงามมาก ปลาชนิดนี้จะว่ายช้ามากเพราะว่าเขาไม่กลัวอะไรเนื่องจากมีพิษรอบตัว  เนื่องจากเป็นปลาสวยและเชื่องช้าจึงอาจจะมีใครรู้เท่าไม่ถึงกาลไปไล่จับมันเล่นก็จะถูกเข็มพิษทิ่มแทง บาดแผลที่โดนเข็มพิษจะปวดมากเหมือนโดนปลาดุกตำ

การรักษา ไม่รู้รักษายังไง แต่ควรทานยาแก้ปวดเพื่อให้บรรเทาอาการปวด แล้วปล่อยให้เวลาเป็นตัวรักษา

การป้องกัน  เห็นปลาสวยๆ อย่าเข้าใกล้หรือไปจับเล่น   เท่านั้นเอง

 

แตนทะเล เป็นสัตว์ขนาดเล็กล่องลอยอยู่ในน้ำ บางครั้งก็มีบางครั้งก็ไม่มี  ส่วนใหญ่มักจะพบในการลงดำน้ำในช่วงเช้ามากกว่าการลงดำในช่วงบ่าย  ลักษณะเป็นสัตว์ทะเลขนาดเล็กจิ๋ว โปรดสังเกตจากในภาพ เห็นหมั๊ยครับ   แตนทะเลจัดอยู่ในจำพวกแพงตอนขนาดเล็กมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ มองดูคล้ายว่าในน้ำมีตะกอน  สิ่งที่เราสังเกตได้คือว่าน้ำจะขุ่นกว่าปกติเหมือนมีเศษตะกอนลอยอยู่ในน้ำ ซึ่งเราก็จะแยกไม่ออกว่านั่นคือตะกอนหรือแตนทะเล เราจะรู้ก็ต่อเมื่อโดนมันต่อย อาการเมื่อโดนแตนทะเลต่อยจะรู้สึกเจ็บจี๊ดๆ เหมือนโดนเข็มขนาดเล็กจิ๊ม แต่เจ็บไม่เท่าไรพอทนได้

การรักษา ส่วนใหญ่ไม่แพ้ เมื่อโดนต่อยก็จะรู้สึกเจ็บเฉยๆ แต่สำหรับคนที่แพ้จะมีอาการเป็นจุดแดงและบวมเล็กน้อย แก้ไขด้วยการทานยาแก้แพ้  แต่สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้มากจะต้องไปพบแพทย์ฉีดยาสักเข็มก็หาย  ที่สำคัญเมื่อโดนแตนต่อยแล้วเกิดตุ่มแดงและคันห้ามเกา ปล่อยไว้อย่างนั้นถึงแม้จะคันก็ทนเอาหน่อย  เมื่อทานยาหรือฉีดยาแล้วแผลยุบหายไปก็จะไม่มีแผลเป็น ไม่เสียโฉม

การป้องกัน  ไม่มีวิธีป้องกัน หากลงน้ำแล้วก็ต่อยถ้าทนได้ก็ดำต่อไป ถ้าทนไม่ไหวก็ขึ้นมารอบนเรือ ที่เขียนมาก็เพื่อจะบอกให้รู้ว่าเวลาลงดำน้ำแล้วรู้สึกเจ็บจี๊ดๆ นั่นน่ะกำลังโดนแตนทะเลต่อย เดี๋ยวจะสงสัยว่าเป็นอะไรทำไมถึงเจ็บ

ปลาฉลาม   เคยเป็นสิ่งที่คนลงทะเลหวาดกลัวที่สุด แต่ทุกวันนี้ไม่ต้องกลัวแล้ว ฉลามหายาก เวลาดำน้ำมีแต่คนถามถึงฉลามว่ามีหมั๊ย อยากดู  แต่ก็หาดูยากเต็มที แถวเกาะสต๊อก ที่หมู่เกาะสุรินทร์พอมีให้เห็นบ้างแต่ตัวเล็ก  ที่เกาะเต่ามีเยอะหาดูง่ายแต่ก็มีขนาดเล็ก ถ้าจะดูขฉลามขนาดใหญ่เท่าคนต้องไปดำน้ำลึกจึงจะเห็น  ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัวฉลาม  ต้องเรียกฉลามว่า " สัตว์เคยอันตราย "  ตัวนี้ถ่ายที่อ่าวหินวง เกาะเต่า  ฝูงนี้มี 5 ตัว
หอยมือเสือ  เป็นสิ่งที่สวยงามในทะเล เนื้อเยื่อบริเวณปากมีสีสันสวยงามเหมือนดอกไม้ สีม่วง สีเขียว สีฟ้า สารพัดสี  เราสามารถพบหอยมือเสือได้แม้ในระดับน้ำตื้นๆ  อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือการเหยียบเข้าไปในปากจะโดยฝาหอยหนีบ แต่โอกาสที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้ยากมากเพราะหอยจะคอยระวังตัว หากเราเข้าใกล้เขาก็จะหุบปาก  อย่าไปแย่เล่น หรือเผลอไปเหยียบก็ปลอดภัยแล้ว
ปะการัง     พิษของปะการังมีสองแบบ  คือ 

1. พิษจากเมือกของปะการัง ปะการังหลายชนิดมีเมือกที่เป็นพิษ เมื่อสัมผัสแล้วจะมีอาการปวดแสบปวดร้อนไปหลายวัน  บางชนิดมีพิษที่รุนแรงเช่นปะการังไฟ เมื่อโดนแล้วปวดแสบปวดร้อนและเป็นรอยไหม้เป็นแผลเป็น  ดังนั้นเมื่อดำน้ำในเขตน้ำตื้นจงหลีกเลี่ยงที่จะไปสัมผัสกับปะการังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปะการังชนิดใดๆ ก็ตาม เพราะหลายชนิดที่มีพิษ ยากที่จะจดจำ จำง่ายๆ ว่าอย่าไปสัมผัสไม่ว่าชนิดใดก็ตาม

2. พิษจากการบาดเจ็บจากการขีดข่วนหรือโดนคลื่นซัดเข้าไปกระแทกเข้ากับปะการัง  ในช่วงที่น้ำลงจะทำให้แนวปะการังอยู่ในระดับน้ำตื้นมากๆ บางจุดปะการังโผล่พ้นน้ำในช่วงที่น้ำลงต่ำสุด อาจทำให้การดำน้ำในเขตปะการังน้ำตื้นเกิดอันตรายเมื่อเราเซไปกระแทกกับปะการัง หรือโดนคลื่นชัดเข้าไปกระแทกกับปะการัง ผิวของปะการังมักจะมีผิวหยาบขุรขระและแหลมคม หากไปกระแทกเข้าก็จะเกิดแผลในบริการที่กระแทก  นักท่องเที่ยวก็เสียโฉม  แนวปะการังก็อาจจะหักเสียหาย  สรุปว่าเสียกันทั้งสองฝ่าย แต่ปะการังมันไม่เจ็บแต่คนซิเจ็บ  ถ้ากลัวเจ็บก็ต้องระมัดระวังโดยการไม่ดำเข้าไปในเขตน้ำตื้นจนเกินไป

หอยนางรม  เป็นพิษภัยที่คนมองข้าม  หอยนางรมจะเกาะอยู่ตามโขดหินในระดับผิวน้ำตั้งแต่ระดับน้ำสูงจนถึงระดับน้ำต่ำ ในการครั้งในที่ดำน้ำนักท่องเที่ยวอาจจะพยายามยืนบนก้อนหินใต้น้ำที่มองไม่เห็น อาจจะเป็นในลักษณะของการเหยียบแบบสะเปะสะปะ หากก้อนหินมีหอยนางรมเกาะอยู่ก็จะโดนบาดเหวอะหวะ บางท่านหัวใสใส่รองเท้าขณะดำน้ำ แต่ไม่ใช่ว่าจะรอดเพราะอันตรายอีกอย่างคือการที่โดนคลื่นซัดเข้าไปกระแทกกับโขดหินที่เต็มไปด้วยหอยนางรม ปัญหานี้เกิดจากการก้มหน้าดำน้ำแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ หมายถึงมองดูแต่ที่พื้นอย่างเดียวจนกระทั่งโดนคลื่นซัดเข้าใกล้โขดหินแล้วก็ยังไม่รู้เรื่อง ถ้าโดนคลื่นกระแทกไปโดนกับโขดหินที่มีหอยนางรมล่ะก็รับรองได้ว่าบาดเจ็บเสียโฉมแน่นอน
เพรียงทะเล  ปัญหาเดียวกับหอยนางรม แต่มักจะเกาะติดอยู่กับโขดหินในระดับผิวน้ำ  ปัญหามักเกิดจากการเดินเที่ยวตามโขดหินชายทะเล หากจะเดินเล่นตามโขดหินต้องใช้ความระมัดระวัง ถึงแม้ใส่รองเท้าจะป้องกันได้  แต่ว่าโขดหินมักจะลื่น หากเสียหลักลื่นล้มอาจจะล้มไปกระแทกกับโขดหินที่มีเพรียง หรือหอยนางรมเกาะก็จะทำให้ได้รับความบาดเจ็บ
งูทะเล  เวลาไปเที่ยวทะเลอาจจะเจองูทะเลอยู่สองประเภท

1. งูทะเลที่อยู่ตามแนวปะการัง มักมีลายปล้องขาว-ดำ  งูเหล่านี้ไม่น่ากลัวเพราะงูพวกนี้จะกลัวคน เพียงแค่ได้เห็นคนก็ว่ายน้ำหนีไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องกลัว  แต่ถ้ามันกัดก็ไม่ต้องกลัวเพราะเป็นงูที่ไม่มีพิษ หากโดนกัดก็เพียงแค่ฉีดยากันบาดทะยัก เท่านั้นเอง   งูทะเลที่มีพิษก็มีแต่จะอยู่ในเขตน้ำลึกซึ่งนักท่องเที่ยวไม่มีโอกาสจะเจอ  ดังนั้นจึงสบายใจได้   สรุปว่างูทะเลในแนวปะการัง ไม่มีพิษภัยเพียงแค่ทำให้ตกใจกลัวเท่านั้นเอง

2. งูที่อยู่บนหัวคน งูประเภทมีมากกว่างูที่อยู่ตามแนวปะการัง เป็นงูที่ไม่มีพิษภัย  เพียงแต่ทำให้เกิดความรำคาญเท่านั้นเอง  แก้ไขง่ายๆ ด้วยการวางเฉย เดี๋ยวงูมันก็ไปเอง