ปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนปลาการ์ตูน เป็นปลาที่น่ารักสีสันสวยงามจนได้ฉายาว่า...การ์ตูน  ชื่อที่ได้มาคงมาจากสีสันความน่ารักของมันเราๆ ท่านๆ ก็คงรู้จักปลาการ์ตูนกันมาบ้างแล้วเพราะว่าปลาการ์ตูนแสนสวยได้กลายเป็นปลาสวยงามที่คนนิยมเอามาเลี้ยงในตู้กันมานานแล้ว  ชื่อเสียงของปลาการ์ตูนดังยังกะพลุแตกก็ตอนที่มีภาพยนต์การ์ตูนเรื่อง Finding Nemo หรือ ปลาเล็กหัวใจโต๊โต ซึ่งมีปลาการ์ตูนที่ชื่อว่า เจ้านีโมเป็นพระเอก ความดังของปลาการ์ตูนทำให้ปลาการ์ตูนขาดตลาดเพราะมีคนนิยมซื้อไปเลี้ยงกันมาก ถ้าเรารักปลาการ์ตูนก็ไม่ควรซื้อมันไปเลี้ยง เราควรปล่อยให้มันใช้ชีวิตที่สวยงามอยู่ในท้องทะเลดีกว่า เวลาเราอยากจะเห็นมันเราก็ไปเที่ยวทะเลดำน้ำดูเจ้าปลาการ์ตูนน่ารักที่ว่ายซุกตัวไปมาอยู่ในกอดอกไม้ทะเล

เจ้านีโม ทำไมจึงเรียกว่า นีโม  ชื่อจริงๆ ของปลาการ์ตูนคือ Anemonefish ประกอบด้วยคำ 2 คำคือ Anemone   +  fish  ความหมายของ Anemone ก็คือดอกไม้ทะเล ส่วนคำว่า fish ก็คือปลา ชื่อของปลาการ์ตูนก็คือ ปลาดอกไม้ทะเล หรือปลาที่อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเล ชื่อนีโม คงย่อมาจาก Anemonefish

เผ่าพันธ์ของปลาการ์ตูนคงอยู่ไม่สูญไปง่ายๆ เพราะมันมีวิวัฒนาการที่ล้ำลึก คือมันสามารถเปลี่ยนเพศได้ ถ้าหากตัวเมียในกลุ่มตายไปจนไม่มีตัวเมียสืบเหล่าพันธุ์ ตัวผู้ในกลุ่มก็จะวิวัฒนาการกลายเป็นตัวเมียทำหน้าที่วางไข่ต่อไป  ถึงแม้ปลาการ์ตูนจะโดนจับไปมากแต่มันก็มีเกิดมาทดแทนมาก ปลาการ์ตูนจะไข่เดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 500-100 ฟอง วางไข่เพียง 7-8 วันก็ฟักออกมาเป็นตัว ลูกปลาการ์ตูนที่เกิดใหม่ก็จะไปหากอดอกไม้ทะเลเป็นที่หลบภัย

ปลาการ์ตูนไม่ใช่จะมีเพียงสีเดียวเหมือนกับเจ้านีโมพระเอกของเรื่องเท่านั้นนะครับ ปลาการ์ตูนมีหลายชนิด ปลาการ์ตูนนีโมเป็นเพียงปลาการ์ตูนชนิดหนึ่งที่ชื่อ ปลาการ์ตูนส้มขาว เรียกชื่อตามสีของมัน ในโลกนี้มีปลาการ์ตูนหลากสีกว่า 28 ชนิด ( ที่ใช้คำว่ากว่าก็เพราะว่ายังมีบางชนิดที่ยังไม่ค้นพบ ) เฉพาะที่พบในเมืองไทยมีประมาณ 10 ชนิด บางชนิดก็หาดูได้ง่ายๆ บางชนิดก็หาดูยาก ความสวยงามและสีสันของแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไป

ปลาการ์ตูนชนิดต่างๆ ในท้องทะเลไทย

anemonefish

ปลาการ์ตูนส้มขาว
Clown Anemonefish
Amphiprion ocellaris (Cuvier, 1830)

ลำตัวมีสีส้มเข้ม มีแถบสีขาว 3 แถบ พาดบริเวณส่วนหัว ลำตัวและบริเวณหาง ขอบของแถบสีขาวเป็นสีดำ ขอบนอกของครีบเป็นสีขาวและขอบในเป็นสีดำ อาศัยในที่ลึก ตั้งแต่ 1-15 เมตร ขนาดตัวโตที่สุดประมาณ 10 เซนติเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Heteractis magnifica และ Stichodactyla gigantea เป็นต้น ในดอกไม้ทะเลแต่ละกออาจพบปลาการ์ตูนชนิดนี้อยู่ด้วยกัน 6-8 ตัว ปลาการ์ตูนส้มขาวพบได้บ่อยที่สุดในทะเลอันดามัน อ่าวไทยพบได้ที่เกาะโลซิน จังหวัดนราธิวาส อาศัยอยู่เป็นครอบครัวใหญ่

ชมภาพ ปลาการ์ตูน ที่ เกาะรอก     เกาะสุรินทร์

ปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนมะเขือเทศ Tomato anemonefish, A. frenatus, Brevoort, 1856

ปลาเต็มวัยลำตัวมีสีดำอมแดง ครีบทุกครีบมีสีแดง มีแถบสีขาว 1 แถบ พาดขวางบริเวณหลังตา ปลาขนาดเล็กจะมีลำตัวและครีบเป็นสีแดง มีแถบขาวพาดขวางลำตัว 3 แถบ บริเวณหลังตา ตอนกลางของลำตัว และโคนหาง ในปลาวัยรุ่นแถบสีขาวที่โคนหางจะหายไปขนาดโตเต็มวัยประมาณ 12 เซนติเมตร อาศัยอยู่ตามลากูน หรือรอบนอกของแนวปะการัง มักอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Entacmaea quadricolor เคยมีรายงานว่าพบได้ในประเทศไทยแต่ปัจจุบันไม่มีใครพบอีก  ปลาที่ซื้อขายในตลาดประเทศไทยเป็นปลาที่นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซีย

ปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนลายปล้องหางเหลือง sebae anemonefish, A. sebae

ลำตัวมีสีดำ ส่วนหางมีสีเหลือง มีแถบขาว 2 แถบ แถบแรกพาดอยู่บริเวณหลังตา อีกแถบพาดผ่านท้องขึ้นมายังครีบหลังเป็นชนิดที่หายาก พบเฉพาะฝั่งอันดามันในที่ลึกตั้งแต่ 2-25 เมตร ขนาดโตที่สุดประมาณ 14 เซนติเมตร อยู่กับดอกไม้ทะลชนิดที่ฝังทรายได้แก่ Stichodactyia haddoni มีสีน้ำตาลหนวดสั้นมักอยู่กันเป็นคู่กับลูกเล็ก ๆ 3-4 ตัว มีนิสัยดุร้ายกับปลาอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว

ปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนอินเดียน
Yellow Skunk Anemonefish
Amphiprion akallopisos (Bleeker, 1853)

ลำตัวมีสีเนื้ออมเหลืองทองอมชมพู มีแถบขาวเล็ก ๆ พาดผ่านบริเวณหลังตั้งแต่ปลายจมูกจนจรดครีบหาง อาศัยในที่ลึกตั้งแต่ 3-25 เมตรขนาดโตที่สุดประมาณ 10-11 เซนติเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Heteractis magnifica และ Stichodactyla mertensii อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่คล้ายปลาการ์ตูนส้มขาว พบอาศัยอยู่ทางฝั่งอันดามัน

ปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนอานม้า saddleback anemonefish, A. polymnus 

ลำตัวมีสีน้ำตาลอมดำ มีแถบขาว 2 แถบ แถบแรกอยู่ที่หลังตา อีกแถบเริ่มบริเวณกลางลำตัวเป็นแถบโค้งพาดเฉียงขึ้นไปที่ครีบหลัง ลักษณะคล้ายอานม้า พบในที่ลึก ตั้งแต่ 2-30 เมตร ขนาดโตที่สุดประมาณ 12 เซนติเมตร อยู่กับดอกไม้ทะเลชนิดที่ฝังตัวอยู่ตามพื้นทราย คือ Heteractis crispa และ Stichodactyla haddoni พบเฉพาะในอ่าวไทย

ปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนแดง Spine - cheek anemonefish, Premnas biaculeatus (Bloch, 1790)

ปลาการ์ตูนแก้มหนาม หรือการ์ตูนทอง หรือการ์ตูนแดง เป็นปลาชนิดเดียวกัน (species) ลำตัวมีสีส้มแดง เมื่ออายุมากขึ้นสีจะแดงมากขึ้นจนเป็นสีแดงเข้มอมดำ ลำตัวมีแถบสีขาวพาดขวางลำตัว 3 แถบ บริเวณหลังตา กลางลำตัว และโคนหาง ลักษณะเด่นของปลาชนิดนี้คือมีหนามแหลมบริเวณใต้ตา ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 16 ซ.ม. พบได้ตามรอบนอกของแนวปะการัง และส่วนที่เป็นแนวปะการังลาดชัน มักอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Entacmaea quadricolor

ปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนดำแดง Red saddleback anemonefish

ปลาเต็มวัยลำตัวมีสีส้มแดงและมีปื้นสีดำขนาดใหญ่บริเวณหลัง ส่วนปลาวัยรุ่นจะยังไม่มีปื้นสีดำ และจะมีแถบสีขาวพาดขวางลำตัวบริเวณหลังตา ขนาดโตเต็มที่ประมาณ 12 เซนติเมตร อาศัยตามแนวปะการังชายฝั่งที่เป็นพื้นทราย หรือตามส่วนลาดชันของแนวปะการัง มักอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Entacmaea quadricolor หรือ Heteractis crispa  พบทางฝั่งทะเลอันดามัน

ปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนอินเดียนแดง
Pink skunk Anemonefish
Amphiprion perideraion 

ลำตัวมีสีเนื้ออมเหลืองทองอมชมพู มีแถบขาวพาดอยู่บริเวณหลังตา อาศัยในที่ลึกตั้งแต่ 3-25 เมตรขนาด โตที่สุดประมาณ 10-11 เซนติเมตร อาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลชนิด Heteractis magnifica และ Stichodactyla mertensii อยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ พบเห็นได้ตามแนวปะการังทางฝั่งอ่าวไทย