การถ่ายภาพใต้น้ำ

เก็บมาแต่ภาพถ่าย ทิ้งไว้เพียงความทรงจำ  แล้วเราจะเก็บภาพถ่ายมาได้ยังไงถ้าเราไม่รู้จักวิธีการถ่ายภาพใต้น้ำ เรามาเรียนรู้เรื่องการถ่ายภาพใต้น้ำแบบงูๆ ปลาๆ กันดีกว่าครับ เมื่อเราลงไปท่องโลกใต้ทะเลจะได้ถ่ายภาพความสวยงามจากใต้ท้องทะเลลึกมาอวดเพื่อนฝูงหรือเก็บไว้ชื่นชมเองเมื่อยามคิดถึงทะเล การถ่ายภาพใต้น้ำไม่ง่ายเหมือนอย่างการถ่ายภาพบนบกเพราะการถ่ายภาพใต้น้ำมีตัวแปรที่มีผลต่อภาพหลายอย่างทั้งเรื่องแสงและสีของภาพ ความใสของน้ำ การพยุงตัวของช่างภาพ ไม่ใช่ว่าจะเล็งภาพกันได้ง่ายๆ เหมือนการถ่ายภาพบนบก อุปกรณ์ที่ใช้จะต้องกันน้ำใต้ซึ่งมีราคาแพง แฟลชและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ล้วนเป็นอุปกรณ์พิเศษ เรามาเรียนรู้กันเลยครับ

ถ่ายภาพใต้น้ำจะใช้กล้องอะไรดี?

การถ่ายภาพสำหรับการดำแบบผิวน้ำ ใช้กล้องอะไรถ่ายก็ได้ครับ กล้องดิจิตอล หรือ กล้องฟิล์มแบบคอมแพค  ( ที่มักเรียกกันว่ากล้องปัญญาอ่อน )  ก็ได้ หรือจะใช้กล้อง SLR แบบเปลี่ยนเลนส์ได้ก็ได้ครับ เพียงแต่เราต้องซื้อถุงพลาสติกใสกันน้ำมาใส่ ถุงเป็นถุงพิเศษไม่ใช่ถุงใสที่ใช้ใส่ผักนะครับ ถุงกันน้ำสำหรับกล้องจะหนาและเหนียว และที่สำคัญคือจะต้องมีระบบการปิดปากถุงที่กันน้ำรั่วซึมได้ดี ราคาถุงก็ไม่แพงประมาณสัก 150 บาท คุณภาพของภาพที่ได้ก็พอใช้ได้  แต่ถ้าต้องการได้ภาพที่มีคุณภาพก็ต้องใช้อุปกรณ์เหมือนกับการถ่ายภาพแบบดำน้ำลึก

การถ่ายภาพใต้น้ำสำหรับการดำน้ำลึก ( Scuba Diving ) เราจะใช้กล้องอะไรดี มีให้เลือกทั้งกล้องดิจิตอลราคาไม่ถึงพัน, กล้องดิจิตอลแบบเปลี่ยนเลนส์ได้ DSLR , กล้อง SLR , และกล้องถ่ายภาพใต้น้ำโดยเฉพาะ ถ้าหากเราต้องการซื้อกล้องไว้ถ่ายภาพใต้น้ำเราจะเลือกแบบไหนดี ตอบแบบทุบโต๊ะฟันธงไปเลยครับว่าให้เลือกกล้องดิจิตอล เหตุผลเพราะว่ากล้องดิจิตอลราคาไม่แพง กล่องกันน้ำก็ราคาไม่แพง  แต่กล้อง DSLR มีราคาแพงมากราคาตัวละ 4 หมื่นขึ้นไป กล่องกันน้ำราคาแสนกว่าบาท กล้อง SLR ที่เราอาจจะมีใช้อยู่แล้วก็ใช้ไม่ได้เพราะกล่องกันน้ำราคาอันละแสนกว่าบาท ยิ่งกล้องสำหรับถ่ายภาพใต้น้ำโดยเฉพาะยิ่งแพงไปกันใหญ่ ตัวละเป็นแสน ถึงท่านจะมีเงินซื้อแต่ผมไม่มีความรู้เพราะตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยได้จับเลยครับ

อีกเหตุผลหนึ่งที่กล้องดิจิตอลเหนือกว่ากล้อง SLR สำหรับการถ่ายภาพใต้น้ำคือ ไม่ต้องเปลี่ยนฟิล์ม กล้องดิจิตอลเก็บภาพไว้ในแผ่น Memory  เราสามารถถ่ายภาพได้หลายร้อยภาพสำหรับแผ่นเก็บภาพเพียง 1 แผ่น แต่กล้อง SLR ถ่ายได้เพียง 36 ภาพก็ต้องเปลี่ยนฟิล์ม  การเปลี่ยนฟิล์มใต้น้ำเป็นสิ่งที่ยากกว่าการส่งยานอวกาศไปลงดาวอังคาร ถ้าหากเราไม่ใช่มือโปรที่ต้องการภาพที่คุณภาพสูงสำหรับเอาไปตีพิมพ์ก็เลือกใช้กล้องดิจิตอลเถอะครับ กล้องตัวละหมื่นกว่าบาท กล่องกันน้ำอันละไม่ถึงหมื่น เท่านี้ก็ถ่ายได้แล้วครับ

เราสามารถใช้ถุงกันน้ำเหมือนกับการถ่ายภาพแบบการดำผิวน้ำได้หรือไม่? ไม่ได้ครับ การดำน้ำลึกจะมีแรงบีบอัดของน้ำรอบๆ ด้านสูงมาก หากเราเอากล้องใส่ถุงกันน้ำลงไปเมื่อเราดำลงไปลึกมากๆ แรงกดของน้ำจะบีบจนกล้องพังเสียหาย ดังนั้นจึงต้องใช้กล่องกันน้ำที่ออกแบบมาโดยเฉพาะปลอดภัยที่สุด

อุปกรณ์การถ่ายภาพใต้น้ำ

กล้องดิจิตอลตัวโปรดของท่าน

 

ซื้อกล่องกันน้ำสักตัว ( Housing ) ก็ถ่ายภาพใต้น้ำได้แล้ว

กล่องกันน้ำหรือ Housing ทำจากพลาสติกใส แข็งแรงทนแรงบีบอัดได้ดี ออกแบบมาสำหรับการดำน้ำลึกสูงสุดเพียง 40 เมตร หากดำลึกไปกว่านี้อาจมีการรั่วซึมตามจุดต่างๆ  ปุ่มปรับการทำงานของกล้องจากภายนอก Housing จะเหมือนกับการที่ตัวกล้องทุกประการ ใช้งานสะดวก  จุดสำคัญของกล่องกันน้ำนี้คือ O-Ring หรือซีลยางที่อยู่ที่รอยต่อระหว่างฝาหลัง กับตัว Housing ซีลยางจะต้องไม่ฉีกขาดหรือมีสิ่งสกปรกเกาะติดอยู่เช่น เส้นผม เม็ดทราย หรือเศษผงต่างๆ เพราะจะทำให้เกิดการรั่วซึม ก่อนนำกล้องลงทะเลจะต้องแช่ในถังน้ำจืดหลังเรือก่อนเพื่อทดสอบว่ารั่วหรือไม่ ถ้ารั่วก็จะได้รีบแก้ไข เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยก็พร้อมที่จะลงทะเล การเอากล้องลงทะเลไม่ใช่ว่าจะกล้องคล้องคอแล้วโดดตูมลงไปนะครับ ตัวโดดลงไปก่อนแล้วค่อยให้เพื่อนบนเรือช่วยส่งกล้องให้ อย่าลืมใส่แบตเตอรี่สำหรับกล้องก่อนลงทะเลนะครับหากลงน้ำไปแล้วเกิดนึกขึ้นได้ว่าลืมใส่แบตล่ะก็อดถ่ายเลย

ภาพที่เราเห็นใต้ท้องทะเลเป็นที่เกิดจากแสงที่ผ่านน้ำลงมา น้ำมีคุณสมบัติดูดกลืนสี สีที่หายไปอย่างมากคือสีแดง ยิ่งลึกมากสีแดงยิ่งหายไปมากเมื่อเราถ่ายภาพออกมาจึงเห็นภาพเป็นสีน้ำสำหรับการถ่ายภาพใต้น้ำที่ลึกๆ ส่วนภาพที่ถ่ายในบริเวณที่ไม่ลึกมากก็จะได้ภาพออกไปทางสีเขียวเหลือง วิธีการที่จะให้ถ่ายได้แสงถูกต้องคือเราจะต้องใช้แสงแฟลชแทนแสงธรรมชาติ ภาพที่เกิดจากแสงไฟแฟลชเป็นสีที่ถูกต้องสมจริงดังนั้นเราจึงควรใช้แฟชทสำหรับการถ่ายภาพใต้ทะเลที่ต้องการให้สีสมจริง

ภาพซ้ายถ่ายโดยไม่ใช้แฟลชภาพจึงมีโทนเขียวเหลืองไม่เหมือนกับสีจริง ของวัตถุ ทั้งนี้เป็นเพราะสีแดงถูกน้ำดูดกลืนไป การแก้ปัญหาเรื่องนี้จึงควรใช้ไฟแฟลชจะทำให้ได้ภาพที่มีสีที่ค่อนข้างจะถูกต้อง

 

 

ภาพที่เกิดจากการถ่ายโดยใช้แสงแฟลชให้ภาพที่มีสีดีขึ้น

 

การใช้แสงแฟลชใต้น้ำจะมีข้อจำกัดบางประการที่มีผลทำให้ภาพแย่กว่าการไม่ใช่แฟชทเสียอีก นั่นคือการถ่ายในบริเวณที่น้ำไม่ใสพอ  ปกติแล้วในน้ำที่ขุ่นจะมีสารแขวนลอยหรือตะกอนบ้างไม่มากก็น้อยทั้งนี้เป็นเพราะคลื่นลมในทะเลทำให้น้ำไม่อยู่นิ่งทำให้ตะกอนล่องลอยอยู่ในน้ำ เมื่อเราใช้แฟลช แสงไฟจากแฟลชจะไปกระทบกับเม็ดตะกอนเหล่านั้นทำให้ได้ภาพที่แย่กว่าภาพที่สีเพี้ยนเสียอีก โปรดดูภาพประกอบ

  

ภาพซ้ายถ่ายโดยใช้แสงแฟลชได้ภาพที่ให้สีสันดีกว่าภาพขวาที่ไม่ใช้แสงแฟลช

แต่ว่าแสงแฟลชไปกระทบกับสารตะกอนในน้ำทำให้เกิดแสงสะท้อนเป็นจุดขาวจนไม่รู้ว่าภาพนั้นถ่ายอะไร  เปรียบเทียบกับภาพขวาถ่ายโดยไม่ใช้แสงแฟลชภาพที่ได้สีสันแย่มาก แต่ว่าเราก็ยังพอมองออกว่ามันคืออะไร 

ดังที่ได้เกิ่นไว้แล้วว่าการถ่ายภาพใต้น้ำมีข้อจำกัดหลายประการ  ความใสของน้ำก็เป็นอีกข้อจำกัดหนึ่ง  การถ่ายภาพด้วยแสงแฟลชจะได้ผลดีในกรณีที่ถ่ายในสภาพน้ำที่ใสปิ๊ง เราจะได้ภาพที่มีสีสันสมจริงและภาพไม่เกิดจุดสีขาวดังภาพตัวอย่าง   แต่การถ่ายภาพด้วยแสงไฟแฟลชก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องระยะห่างของวัตถุที่จะถ่าย ถ้าหากเราถ่ายวัตถุที่อยู่ใกล้ๆ ก็จะได้ผลดีคือภาพมีความสว่างเพียงพอและมีสีสันสวยงาม แต่ถ้าเราถ่ายวัตถุที่อยู่ไกลจากตัวเราก็จะมีปัญหาเรื่องปริมาณความแรงของแสงแฟลช ถ้าหากแสงแฟลชไม่แรงพอก็จะได้ภาพที่มีสีผิดเพี้ยน  แฟลชที่ติดมากับกล้องใช้ได้ผลดีในการถ่ายภาพในระยะใกล้ๆ ไม่น่าเกิน 1.5 เมตร แสงแฟลชที่แรงเมื่อถ่ายบนบกจะลดลงไป 1 stop เมื่ออยู่ใต้น้ำเพราะแสงเดินทางผ่านน้ำได้แย่กว่าการเดินทางผ่านอากาศ ดังนั้นเราจึงใช้แฟลชที่ติดมากับตัวกล้องถ่ายได้เฉพาะใกล้ๆ  แต่ถ้าเราต้องการถ่ายภาพไกลกว่านั้นล่ะเราจะทำอย่างไร เช่นต้องการถ่ายปะการังทั้งกอ  ทางออกก็คือเราต้องไปซื้อแฟลชภายนอกที่แรงกว่ามาต่อ ต้องเสียเงินอีกแล้วซิ การต่อแฟลชภายนอกค่อนข้างยุ่งยากและเปลืองเงินเพราะต้องใช้อุปกรณ์หลายชิ้น โปรดดูภาพข้างล่างประกอบจะเข้าใจได้ดีขึ้น

ชุดสำหรับการต่อแฟลชจากภายนอก

A คือแฟลชภายนอกที่มีกำลังไฟแรงกว่า ทำให้ถ่ายภาพได้ไกลกว่า

B คือแขนต่อ

C คือฐานรองกล้อง

D สายต่อแฟลช ( ไม่เห็นในภาพ )

ทุกชิ้นจะกอบเข้าด้วยกันเป็นชุด และมีสายต่อพ่วงจากแฟลชมาที่ตัวกล้อง

การถ่ายภาพใต้น้ำแบบดำผิวน้ำ ง่ายนิดเดียว

ไม่จำเป็นต้องซื้อกล่องกันน้ำที่มีราคาแพงเป็นหมื่น ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์อื่นๆ ให้วุ่นวายมากเรื่องและเปลืองเงิน เพราะการดำถ่ายภาพผิวน้ำ กล้องจะจมน้ำลงไปนิดเดียวจึงไม่โดนแรงกดของน้ำมากนัก  ปัจจุบันนี้มีถุงกันน้ำใส่กล้องสำหรับถ่ายภาพใต้ผิวน้ำที่ไม่ลึกนัก สนนราคาของถุงกันน้ำแบบนี้มีราคาเพียงไม่กี่ร้อยบาทไปจนถึงเป็นพันบาท คุณภาพใช้ได้ ถุงกันน้ำที่กล่าวมาดังภาพข้างล่าง



ถุงกันน้ำ อุปกรณ์สำหรับการถ่ายภาพใต้น้ำราคาประหยัด

การใช้งาน เนื่องจากถุงกันน้ำไม่มีปุ่มใดๆ ให้ปรับ ลักษณะการใช้งานก็เหมือนถุงพลาสติกใบหนึ่งเพียงแต่ปากถุงปิดสนิทจนน้ำไม่สามารถซึมเข้าไปได้ เมื่อเอากล้องใส่เข้าไปในถุงแล้วก็จะไม่สามารถปรับปุ่มต่างๆ ได้ ดังนั้นผู้ใช้จะต้องปรับกล้องให้พร้อมใช้งานก่อนที่จะใส่ถุง เมื่อใส่เข้าไปแล้วก็จะทำได้เพียงกดปุ่มเท่านั้น เช่น กดปุ่มเปิด กดปุ่มถ่ายภาพ  กดปุ่มใช้แฟลช ส่วนปุ่มที่ต้องหมุนปรับจะทำไม่ได้

อ่านกันแล้วก็จะรู้ว่าการถ่ายภาพใต้น้ำนั้นไม่ยาก และไม่แพงอย่างที่คิด  ถ่ายภาพกันแล้วก็เอามาโพสภาพโชว์ให้ชมกันบ้างนะครับ

ว่างๆ จะมาเขียนเทคนิคการถ่ายภาพใต้น้ำให้ได้ศึกษากันเพิ่มเติมนะครับ

 

 

เขียน / ถ่ายภาพ โดย   :  เวบมาสเตอร์